เป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว ที่คนไทยรู้จัก “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” พระราชทานเป็นแนวทางในการนำพาประเทศไทยให้ข้ามพ้นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 หรือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” จนหลายภาคส่วนน้อมนำหลักปรัชญานี้ไปเป็นแนวทางปฏิบัติ
จวบจนวันนี้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งในภาคเกษตรกรรม ธุรกิจ การจัดการทางเศรษฐกิจ
และสิ่งแวดล้อม และสถานศึกษา จนประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนในประเทศไทยในมิติต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ได้นำหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้ในวงกว้าง
นายจิรายุเล่าถึงที่มาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงครั้งแรกเมื่อปี 2517 คนไทยให้ความสนใจมาก คือ เมื่อปี 2540 เพราะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ก่อนเกิดต้มยำกุ้ง พระองค์เคยรับสั่งว่าเราอย่าเป็นเสือกันเลย ไปพัฒนาเศรษฐกิจให้ทุกคนยกระดับขึ้นมา กระทั่ง 2540 เศรษฐกิจล่มสลาย พระองค์รับสั่งแนะนำว่า อย่าไปทำแบบไม่ยั่งยืน มาสร้างพื้นฐานให้คนทั่วๆ ไปได้มีความอยู่ดีกินดีตามอัตภาพเสียก่อน แล้วค่อยไปสร้างบนพื้นฐานที่มั่นคง ประเทศจะเจริญเติบโต ไม่ล้มครืนลงมาระหว่างที่ฐานไม่ดี”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเปรียบเทียบ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เหมือน “เสาเข็ม”
“พระองค์รับสั่งว่า บ้านเรือน ถ้าจะให้มั่นคงต้องมีเสาเข็ม แต่เสาเข็มอยู่ใต้ดิน เพราะฉะนั้นไม่มีใครเห็น จะลืมเกี่ยวกับบทบาทของเสาเข็ม ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็เหมือนเสาเข็ม ที่เป็นรากฐานแห่งความมั่นคง แต่มองไม่เห็น ถ้าพื้นฐานคนไม่มีความอยู่ดีกินดีตามอัตภาพแล้ว ไปสร้างอะไรที่ใหญ่โตบนสิ่งที่ไม่มีพื้นฐานที่มั่นคง จะล้มลงมาง่าย” นายจิรายุกล่าว และว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมี 3 ข้อคือ พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน บวก 2 เงื่อนไข คือ ความรู้คู่คุณธรรม
“สิ่งที่จะมาลดความเสี่ยง ทำให้รากฐานมั่นคง ไม่ล้มลงง่าย คือ การมีความคิดแบบพอเพียง ไม่โลภ และมีความรู้คู่คุณธรรม ความรู้แบ่งได้เป็น 3 อย่างคือ 1.ความรู้ของชาวบ้าน หรือปราชญ์ชาวบ้าน 2.ความรู้จากศาสตร์พระราชา ตามโครงการพระราชดำริต่างๆ หรือตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3.ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งเราไม่ปฏิเสธที่จะใฝ่รู้ และอีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ผู้นำที่มีคุณธรรม ถ้ามีครบทั้งหมดนี้จะประสบความสำเร็จในการพัฒนาที่ยั่งยืน” นายจิรายุย้ำ
ไม่เพียงเท่านั้น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยังได้รับการ “ยอมรับ” จากนานาชาติอย่างกว้างขวาง โดยเมื่อปี 2549 “สหประชาชาติ” หรือ ยูเอ็น โดย นายโคฟี อันนัน ในฐานะเลขาธิการสหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม โดยกล่าวในโอกาสทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลว่า
“หากการพัฒนาคนหมายถึงการให้ความสำคัญประชาชนเป็นลำดับแรก ไม่มีสิ่งอื่นใดแล้วที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าการพัฒนาคน ภายใต้แนวทางการพัฒนาคนขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงอุทิศพระวรกาย ทรงงานโดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ไม่เลือกเชื้อชาติ วรรณะ และศาสนา ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนา ด้วยพระปรีชาสามารถในการเป็นนักคิดของพระองค์ ทำให้นานาประเทศตื่นตัวภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การเดินสายกลาง รางวัลความสำเร็จสูงสุดครั้งนี้ เป็นการจุดประกายแนวคิดการพัฒนาแบบใหม่สู่นานาประเทศ”
จึงเป็นที่มาของหนังสือ “แนวคิดของความพอเพียง : ของขวัญจากประเทศไทยแด่โลกที่ไม่ยั่งยืน” (Sufficiency Thinking : Thailand”s gift to an unsustainable world) ภาคภาษาอังกฤษ ได้โปรเฟสเซอร์ระดับโลกอย่าง
ศ.ดร.แกลย์ ซี เอเวอรี ผู้บุกเบิกในแวดวงวิชาการด้านภาวะผู้นำแบบพอเพียง เป็นที่ยอมรับทั้งในเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย เป็นบรรณาธิการ
เนื้อหาในหนังสือ ศ.ดร.เอเวอรีได้เกริ่นไว้อย่างน่าสนใจว่า “Thailand : An unexpected role model” หมายถึง “ประเทศไทย : แบบอย่างที่เหนือความคาดหมาย”
ณ วันนี้ นายจิรายุบอกว่า ความรู้จักกับคำว่า “พอเพียง” ของคนไทยยังอยู่ในระดับสมอง แต่ยังไม่เข้า “สายเลือด” หรือ “ดีเอ็นเอ”
“เพราะถ้าเข้าดีเอ็นเอ จะต้องปฏิเสธการซื้อหรืออะไรที่ฟุ่มเฟือยเกินไป เวลาเกิดความโลภขึ้นมา ต้องสกัดได้ โดยไม่จำเป็นต้องเอาสมองไปตัด แต่ผมเชื่อว่า ต่อไปจะเป็นไปได้ หลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงจะเข้าไปอยู่ในดีเอ็นเอของคนไทย หัวใจของเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากไม่โลภ ต้องมีความรู้คู่คุณธรรม มีผู้นำที่ดีเป็นโรลโมเดล และเอา 3 หลักไปใช้คือ พอประมาณ ไม่สุดโต่ง มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี” นายจิรายุกล่าว
ซึ่ง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ทรงเป็น “แบบอย่างที่ดี” ในเรื่องนี้
“พระองค์ทรงเป็นแรงบันดาลใจ พระจริยวัตรต่างๆ ที่พวกเรารู้อยู่แล้ว อย่างเรื่อง ยาสีฟัน รองพระบาท พระองค์ทรงเป็นอย่างนั้นจริงๆ ทรงเป็นปราชญ์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนัก ทรงสนพระทัยทุกเรื่องที่เป็นเรื่องของประชาชน ดั่งพระปฐมบรมราชโองการที่ทรงปฏิบัติมาตลอด 70 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” นายจิรายุกล่าว
“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “แนวคิดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้คนไทย และได้รับการแซ่ซ้อง” เป็นปรัชญาที่เป็น “ของขวัญ” แก่ “โลก”
VIDEO